
การดูแลเท้า 1
โดย แพทย์หญิงจุลี จตุวรพัฒน์ – 2016-12-20 17:12:20 – หมวดความรู้ทั่วไป
เท้านั้น..สำคัญไฉน
เท้ามีไว้..ยืน..เดิน..วิ่ง ที่สำคัญกว่านั้น เท้ามีความสำคัญต่อจิตใจว่าเราเป็นคนมีอวัยวะครบ 32 ประการ ถ้าหายไปสักข้างละก้อรู้สึกหดหู่ ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากไปไหน
เกิดอะไรขึ้นกับเท้าบ้าง เมื่อเป็นเบาหวาน
“ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย ฉันยังมีเท้าเหมือนคนอื่นๆ รู้สึกเป็นปกติ เป็นแผลก็หายเร็ว”
“เอ..เท้าชามาได้ 2 เดือนแล้วค่ะ”
“แสบร้อนครับ เจ็บแปล๊บๆเหมือนเข็มตำ โดยเฉพาะเวลาเดิน และเป็นตอนนอน…เจ็บจนนอนไม่หลับเชียวล่ะครับ”
“เท้าบวมขึ้นมา 2 สัปดาห์แล้วค่ะ เท้าไม่เจ็บนะคะ แผลก็ไม่มีค่ะ”
“เป็นแผลมาเกือบปีแล้ว หายยากหายเย็น ไปพบมาหลายหมอแล้วจ้า”
ค่ะเหล่านี้เป็นคำตอบที่หลากหลาย เมื่อถามคำถามนี้ในผู้เป็นเบาหวาน เพราะอาการทางเท้าจะไม่ประกฎจนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่เป็นเวลานานหลายๆปี บางรายเป็นเบาหวาน 10 ปี จึงมีอาการทางเท้า จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ สำรวจเท้าแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะสายเกินเยียวยา และก่อนที่บางส่วนของเท้าต้องแยกจากขาไปเสียก่อน
ผู้เป็นเบาหวานในระยะเริ่มแรก และสามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีคือ ระดับน้ำตาลก่อนอาหารน้อยกว่า 140 มก./ดล. 2 ชั่วโมงหลังอาหารน้อยกว่า 170 มก./ดล. และน้ำตาลเฉลี่ยน้อยกว่า 7% จะพบโรคแทรกซ้อนของเบาหวานได้น้อยมาก แต่ถ้าท่านควบคุมไม่ได้เกณฑ์ดังกล่าว ไปพบแพทย์เมื่อใดอย่าลืมควรให้แพทย์ตรวจเช็คดูโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานให้ด้วยค่ะ
สถิติการเกิดแผลที่เท้าพบว่า 50% พบในผู้เป็นเบาหวาน 20% ของผู้เป็นเบาหวานและมีแผลที่เท้ามักจะถูกตัด หลังจากถูกตัด 1 ปีแรก พบว่า 15% เกิดแผลใหม่กับเท้าข้างที่เหลือ จะถูกตัดเท้าข้างที่เหลือถึง 30% เมื่อติดตามครบ 3 ปีและมีอัตราตัดเพิ่มเป็น 50% และมีอัตราเสี่ยงต่อชีวิต 80% ในปีที่ 5 หลังจากถูกตัดเท้าข้างแรก
จะดูแลเท้าอย่าไรเพื่อไม่ให้ถูกแยกจากขา
- 1.สำรวจเท้าตนเองทุกวัน จะสำรวจด้วยตนเอง ให้คนในครอบครัวช่วยสำรวจให้ในกรณีที่ตามองไม่ชัด หรือ้วนจนก้มไม่ลง ตรวจดูว่ามีบาดแผล รอยถลอก ผื่นพุพอง ผิวเปลี่ยนสี บวม หรือไม่
- 2.ถ้าพบตาปลา หูด หรือตุ่มช้ำๆ ไม่ควรตัดหรือจี้ด้วยตนเอง เพราะอุปกรณ์อาจไม่สะอาดพอ พลาดพลั้งเกิดแผลได้อีก
- 3.การตัดเล็บ ดูแลเล็บ ควรตัดเล็บให้เสมอกับปลายนิ้ว ไม่งัดแซะมุมเล็บ เป็นร่อง หลุม
- 4.ไม่ควรแช่เท้าในน้ำนาน ไม่แช่เท้าในน้ำอุ่น น้ำร้อน
- 5.ให้ล้างเท้าด้วยสบู่อ่อนๆทุกวันๆละ 2 ครั้ง และซับให้แห้งโดยเฉพาะมุมเล็บ ทาด้วย moisture cream ที่มีส่วนผสมของ lanolin
- 6.ไม่ควรเดินเท้าเปล่า ทั้งนอกและในบ้าน
- 7.เลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับเท้า และสวมถุงเท้าผ้าฝ้ายนุ่มๆทุกครั้งที่สวมรองเท้าเพื่อป้องกันการเสียดสีของเท้า
ความผิดปกติของผิวหนังเท้า ในผู้เป็นเบาหวาน สีผิวเข้ม
ขนที่นิ้วร่วง ในรายนี้มาด้วยอาการเท้าบวม ไม่เจ็บ ไม่มีไข้
ตรวจพบจุดหนองที่ฝ่าเท้า ทะลุถึงหลังเท้า หลังเท้าจึงบวมและพบว่าหนองเซาะไปตามเส้นเอ็นถึงหน้าแข้ง
จึงต้องเปิดแผลตามเพื่อทำความสะอาดแผลล้างหนองออกทุกวัน
ใช้เวลารักษาแผล 4 เดือน

