ความรู้ทั่วไป

เท้าเจ้าปัญหา

โดย แพทย์หญิงจุลี จตุวรพัฒน์ – 2016-12-20 17:26:18 – หมวดความรู้ทั่วไป

เบาหวาน เป็นภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาท ไต ตา นอกจากนี้ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานต่อสู้กับเชื้อโรคมีประสิทธิภาพลดลง เมื่อไม่สามารถควบคุมให้สู่ระดับระดับใกล้เคียงปกติได้เป็นระยะเวลานาน อวัยวะเหล่านั้นก็จะเริ่มเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับเท้าซึ่งประกอบด้วยเส้นเลือด เส้นประสาท ก็จะเสื่อมเช่นกัน ทำให้เกิดปัญหาจนต้องเสียขาไปในที่สุด

สาเหตุของเท้าในผู้เป็นเบาหวาน

  • เมื่อระบบประสาทที่เท้าเสื่อมไป เท้าจะรับรู้ความรู้สึกลดลง ต่อมเหงื่อและต่อมไขมันไม่สามารถผลิตและหลั่งเหงื่อและไขมันเพื่อทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นได้ตามปกติ ทำให้ผิวหนังแห้ง แตกง่าย จึงเกิดเป็นแผลแตกขณะเดิน และผิวหนังเสียดสีกับรองเท้าหรือบริเวณที่ลงน้ำหนักก็จะแตกเกิดแผลได้
  • เนื่องจากหลอดเลือดที่เสื่อม มีการอุดตันหรือมีหินปูนมาเกาะร่วมกับระบบภูมิคุ้มกันที่เสียไป เมื่อเกิดแผลจึงยากที่จะหาย จึงเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังและชั้นของผิวหนังลึกไปเรื่อยๆจนถึงชั้นไขมัน กล้ามเนื้อ และกระดูกได้ การติดเชื้อเล็กๆน้อยๆสามารถนำไปสู่การติดเชื้อที่รุนแรงขึ้น ทำให้นิ้วเท้าดำลามทั้งเท้า หรือทั้งขา ต้องสูญเสียเท้าหรือขาไป ถ้ารุนแรงมากกว่านั้น เมื่อเชื้อเข้ากระแสเลือดควบคุมไม่ได้
  • ผู้เป็นเบาหวาน จะต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการเฝ้าระวังเท้าอย่าให้เกิดแผล หรือเมื่อเกิดแผลแล้วควรรู้ว่าจะไปพบใคร เมื่อไร เพื่อให้รับการดูแลที่ถูกต้อง การป้องกันยังเป็นหัวใจสำคัญ การควบน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ใกล้เคียงปกติ ยังเป็นการป้องกันการเกิดแผลได้ดีที่สุด
  • ผู้เป็นเบาหวานควรรู้ว่า จะตรวจเท้าตนเองได้อย่างไร และควรรู้ถึงอาการแสดงของปัญหาเท้าในเบาหวานด้วยว่ามีอะไรที่ต้องดูบ้าง
  • และควรเรียนรู้ถึงการดูแลเท้าของตนเองเป็นประจำวัน และรู้ว่าควรจะโทรปรึกษาแพทย์
  • ของตนเองเมื่อไร และปัญหาไหนที่ต้องพบแพทย์โดยด่วน

ข้อที่ระวังต่อไปนี้ที่อาจเป็นสาเหตุปัญหาเท้าในผู้เป็นเบาหวาน

1. รองเท้า : ที่ไม่พอเหมาะ พอดี

            ถ้าใส่แล้วมีจุดแดง จุดเจ็บ ตุ่มน้ำ ตาปลา เกิดขึ้น ควรยกรองเท้าคู้นั้นให้คนอื่นทันที และมองหารองเท้าคู่ใหม่ที่ใส่แล้วนุ่มสบาย ไม่เกิด จุดแดง เจ็บ ตุ่มน้ำ ตาปลา อีก

ถ้าลักษณะเท้าของท่านเป็นดังต่อไปนี้

เท้าแบน (รูป Flat feet)

กระดูกเท้าปูดโปน(รูป Bunion)

นิ้วเท้าหงิกงอ(รูป Hammertoes)

คุณ….เจ้าของเท้าเจ้าปัญหาควรพบแพทย์เพื่อหารองเท้าที่เหมาะสมกับเท้านั้นๆ

2. มีเส้นประสาทเสื่อมแล้ว

 ซึ่งพบในผู้เป็นเบาหวานมานานและควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี จะมีอาการชาหรือแสบร้อนปลายเท้า ทำให้สูญเสียการทรงตัว ทดสอบง่ายๆโดยการใช้มือถูเบาๆที่ส่วนปลายของเท้า ฝ่าเท้าว่ายังรู้สึกอยู่หรือไม่

            ในผู้เป็นเบาหวานการรับรู้ความรู้สึกจะเสียไป คนปกติเมื่อมีเศษหินเล็กในรองเท้าเมื่อเดินจะรู้สึกได้ต้องรีบนำออก แต่ผู้เป็นเบาหวานจะไม่รู้สึกจึงเดินเหยียบอยู่ทุกวันทำให้เกิดแผลได้

3. การไหลเวียนของเลือดที่เท้าลดลง

            ในผู้เป็นเบาหวานและควบคุมไม่ได้ตามเกณฑ์ จะเร่งหลอดเลือดให้เสื่อมเร็วการยืดหดตัวเสียไป จึงแข็งเหมือนท่อ PVC และตีบแคบเนื่องจากมีไขมันไปเกาะตามผนังหลอดเลือด ทำให้การบีบตัว ทำให้หลอดเลือดแดงไปเลี้ยงเท้าลดลง และนำหลอดเลือดดำกลับมาฟอกใหม่น้อยลง

จากสาเหตุ 1-3 เมื่อเท้าได้รับบาดเจ็บเล็กๆน้อยๆ จึงนำไปสู่ปัญหาลุกลามจนต้องเสียเท้าหรือขาหรือแม้แต่ชีวิตได้

4. การติดเชื้อ

             ปัญหาการติดเชื้อที่เท้า ที่เป็นเชื้อราที่ง่ามนิ้ว เล็บ ก็สามารถลุกลามได้ถ้าไม่ดูแลให้ดี

            เล็บขบ เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง เช่นกัน

5. สูบบุหรี่

            บุหรี่ทำลายเส้นเลือดที่เท้าโดยตรง ทำให้เลือดไหลเวียนที่เท้าลดลง ทำให้แผลหายยาก ถ้ายังสูบบุหรี่อยู่

อาการและอาการแสดง

  1. เจ็บเท้า : เป็นอาการแสดงอาจเกิดจากการใช้เท้ามากไป ใส่รองเท้าไม่พอเหมาะ เส้นเอ็นอักเสบ หรือมีติดเชื้อซ่อนอยู่
  2. แดง : เป็นอาการแสดงจากการติดเชื้อก็ได้ หรือเกิดจากการเสียดสีกับรองเท้าที่แข็งไป ไม่พอเหมาะพอดีกับเท้าก็ได้
  3. บวม : เป็นอาการแสดงจากการติดเชื้อ หรือรองเท้าคับเกินไป หรือเส้นเลือดดำเสื่อม
  4. ร้อน : อาการแสดงจากการติดเชื้อ อักเสบ หรือแผลเรื้อรังที่ไม่หาย
  5. รอยแตกที่ผิวหนัง จาการเสียดสีกับรองเท้า

ตาปลา เกิดจากการลงน้ำหนักเท้าที่ผิดปกติ หรือเท้าผิดรูป

เล็บที่เป็นเชื้อรา มีเชื้อราที่ง่ามนิ้วเท้า เล็บขบ

อาการแสดงเหล่านี้สามารถนำไปสู่ปัญหาใหญ่ได้เสมอ

  1. มีหนองหรือเลือดจากแผล เป็นอาการติดเชื้อที่ต้องพบแพทย์ทันที
  2. ไข้ หนาวสั่น เป็นอาการตอบสนองของร่างกายต่อการติดเชื้อ ควรพบแพทย์ทันที
  3. เดินลำบาก อาจเป็นปัญหาจาก ข้อเสื่อม ติดเชื้อ เท้าผิดรูป รองเท้าไม่พอเหมาะ
  4. อาการเจ็บขา หรือก้น ที่เป็นมากขึ้นขณะเดิน และดีขึ้นเมื่อได้พัก

ไม่มีขนที่เท้าและขนที่ขา

ผิวหนังเป็นมัน บาง

เหล่านนั้นเป็นอาการแสดงของการขาดเลือดมาเลี้ยง ขา-เท้า

การดูแลตนเองที่บ้าน

1. ตรวจเท้าสม่ำเสมอทุกวัน และต้องดูทุกครั้งหลังเกิดอุบัติเหตุกับเท้า ไม่ว่าจะเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เช่น เปิดประตูแล้วชักเท้าหนีประตูไม่พ้นนิ้วชนประตู เดินสะดุด และควรรายงานอุบัติเหตุนั้นๆแก่แพทย์ประจำตัวท่าน

            ใช้ครีมทาเท้าเพิ่มความชุ่มชื้นกับผิวหนังที่เท้า ป้องกันรอยแตก สวมถุงเท้าที่ทำด้วยฝ้าย ไม่รัดจนเกินไป ไม่ควรใช้ถุงเท้ามียางรัดแน่นจะทำให้เลือดไหลเวียนลดลง

            2. เคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางบนทางเดินที่บ้าน หมั่นสำรวจดูเศษวัสดุที่พื้นที่จะทิ่มตำเท้าได้

            เปิดไปทางเดินทุกครั้งที่ทางเดินเพื่อให้เห็นทางเดิน และเศษของที่พื้นได้ชัดเจน ทั้งกลางวันและกลางคืน

            3. การตัดเล็บ ควรใช้กรรไกรตัดเล็บที่มีส่วนกันการตัดเนื้อเหมือนของเด็กอ่อน ไม่ควรใช้กรรไกรทั่วไป และตัดเล็บตรงได้เสมอขอบนิ้ว ถ้าสายตาไม่ดีหรือมือทำเองไม่ถนัด ควรฝึกให้คนที่บ้านในการดูแลเล็บให้อย่างปลอดภัย

            4.  รองเท้า

            ควรเป็นรองเท้าที่สวมแล้วรู้สึกนุ่มสบายเท้า ไม่เสียดสีจนเกดตุ่มแดง เจ็บ ถ้าหาไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวท่าน เพื่อส่งต่อแพทย์ที่ดูแลเรื่องเท้าโดยเฉพาะ

            5. การออกกำลังกาย

            การออกกำลังกายที่สม่ำเสมอจะช่วยส่งเสริมการไหลเวียนของโลหิตที่เท้าและยังลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกถึง 30% ถ้าทำสม่ำเสมอสัปดาห์ละ3 ครั้งๆละ 45 นาที ควรปรึกษาแพทย์ของท่านก่อนที่จะเริ่มโปรแกรมออกกำลังกาย เพราะอาจต้องปรับยารักษาเบาหวาน

            6. การสูบบุหรี่  การหยุดสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดเมื่อท่านมีปัญหาเท้า การสูบบุหรี่จะเร่งให้เส้นเลือดเล็กๆที่เท้าตีบตันเร็วขึ้น เป็นความเสี่ยงอย่างมากต่อการเกิดแผล แผลหายยาก แผลติดเชื้อ และลงเอยด้วยตัดเท้าหรือขาในที่สุด

            7. การควบคุมเบาหวาน ด้วยการควบคุมอาหาร รับประทานให้ตรงเวลา ควรเช็คน้ำตาลด้วยตนเองเป็นครั้งคราว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ติดตามการรักษากับแพทย์ประจำ ทั้งหมดจะส่งเสริมให้การควบคุมเบาหวานอยู่ในเกณฑ์ที่ดีได้ การควบคุมให้ระดับน้ำตาลใกล้เคียงปกติ เป็นปัจจัยสำคัญ โอกาสการเสื่อมของหลอดเลือดที่เท้า ที่ไต ที่ตา และที่หัวใจ

เมื่อไรจะโทรปรึกษาหรือไปพบแพทย์

ให้จดบันทึกอาการที่เกิดกับเท้าดังต่อไปนี้ เพื่อปรึกษากับแพทย์ประจำตัวของท่าน อาจโทรปรึกษาหรือควรไปพบแพทย์ไม่เกิน 72 ชั่วโมงจากเริ่มมีปัญหา

  • 1.ได้รับอุบัติเหตุที่เท้า ไม่ว่าจะเล็กน้อยอย่างไรก็ตาม เพราะแผลส่วนใหญ่เริ่มจากได้รับอุบัติเหตุเล็ก และถูกละเลยจนกลายเป็นปัญหาลุกลามจนต้องเสียเท้าในที่สุด
  • 2.มีอาการเจ็บเท้า ขา จะเจ็บเป็นครั้งคราวหรือเจ็บตลอดก็ควรโทรปรึกษา
  • 3.มีตุ่มน้ำใสๆ แผลเกิดขึ้น ไม่ว่าแผลจะขนาดเล็กน้อยก็ไม่ควรละเลย
  • 4.มีตำแหน่งบวม แดง ร้อน เกิดกับเท้าอาการดังกล่าวเป็นตัวบอกการติดเชื้อที่เท้า
  • 5.เจ็บ แดง ร้อน รอบๆเล็บเท้า อาจมีเล็บขบ ไม่ควรพยายามตัดเอง เพราะมีหลายรายที่ถูกตัดเท้า เพราะเพียงเล็บขบเท่านั้น ควรจะรีบพบแพทย์ของท่าน
  • 6.ชาที่เท้า เป็นอาการของเส้นประสาทเสื่อม และขาดเลือดไปเลี้ยง ทั้ง 2 ภาวะเป็นสาตุของการติดเชื้อที่กระดูก ตัดเท้ามามาก
  • 7.การเดินลำบาก รู้สึกขัดๆ เป็นอาการของข้ออักเสบจากเบาหวาน (Charoote’s joint) การดูแลเรื่องของเท้าที่เหมาะสมจะเป็นการป้องกันการเกิดแผล การติดเชื้อได้
  • 8.ตาปลา และหนังที่หนาตัวผิดตำแหน่งที่เท้า ไม่ควรตัดเองที่บ้าน ควรมาให้ผู้รู้และเชี่ยวชาญทำให้ที่โรงพยาบาลดีกว่า
  • 9.ไข้ ภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 37.5 ควรมาพบแพทย์ทันที เพราะไข้ต่ำๆอาจเป็นการติดเชื้อที่ลุกลามในผู้เป็นเบาหวานได้ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดปกตินั่นเอง
ปิดความเห็น บน เท้าเจ้าปัญหา