ข่าวสารจากคุณหมอ

บทความ HBOT 1 นิตยสาร “สกุลไทย”

โดย แพทย์หญิงจุลี จตุวรพัฒน์ – 2016-12-20 15:42:47 – หมวดความรู้ทั่วไป

ต้นฉบับ             นิตยสาร “สกุลไทย”

คอลัมน์             “ให้ความรู้  คู่การรักษา”

****************************************************************************************

ทางเลือกใหม่ที่ไม่ต้องสูญเสียอวัยวะ

ในแผลเบาหวานและแผลเรื้อรัง

หลายๆ คนคงเคยเป็นแผล การหายของแผลในคนปกติใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ในคนที่มีโรค ประจำตัว เช่น เบาหวาน  หลอดเลือดที่เท้าตีบ  เมื่อเป็นแผลจะหายยากมาก ใช้เวลาเป็นเดือนหรือหลายๆ เดือน บางคนแผลลุกลามต้องตัดอวัยวะส่วนนั้นทิ้ง หลายคนแผลติดเชื้อนั้นลุกลามรวดเร็วและคุกคามถึงแก่เสียชีวิตได้

แนวทางในการรักษาแผลนั้นต้องได้รับการทำความสะอาดแผล และให้ยาฆ่าเชื้อ ถ้าเป็นน้อยก็ใช้ยารับประทาน ถ้าเป็นมากก็ต้องนอนโรงพยาบาลให้ยาเข้าหลอดเลือดดำ ร่วมกับการทำความสะอาดวันละหลายๆ ครั้ง

การช่วยให้แผลหายอย่างรวดเร็วยังจำเป็นต้องมีโภชนาการที่ดีและลดการกดทับบริเวณที่เป็นแผล อาจต้องนำห่วงยางหรือฟองน้ำนิ่มๆ มารองก้นในกรณีที่เป็นแผลกดทับที่ก้น หรือแผลที่ส้นเท้า ต้องมีหมอนเล็กๆ หนุนบริเวณข้อเท้าเวลานอน หรือที่พบบ่อยๆ ในเท้าผู้คนทั่วๆ ไป คือ แผลตาปลาที่ฝ่าเท้า การเลือกรองเท้าและพื้นรองเท้าที่เหมาะสมจะช่วยลดการกดทับแผลหรือถ้าเป็นแล้วแผลก็จะหายเร็วขึ้น

ในกรณีที่เป็นแผลเล็กๆ และได้พยายามรักษาเองแล้ว 1 สัปดาห์ไม่ดีขึ้น ควรมาพบแพทย์ ไม่ควรทิ้งไว้เพราะแผลเล็กๆ นั้นอาจลุกลามและคุกคามถึงแก่ชีวิตได้

จากการศึกษาเรื่องแผล พบว่าบริเวณที่เป็นแผลนั้นมีปริมาณออกซิเจนต่ำกว่า 30 มม.ปรอท. ทำให้      เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลซึ่งมีหน้าที่กำจัดเชื้อโรคทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ เพราะขณะที่นิวโทรฟิวจับกินเชื้อโรคจะต้องการออกซิเจนในการเผาผลาญ 10-15 เท่าของภาวะปกติ ซึ่งมากกว่า 30 มม.ปรอท. จึงทำให้แผลหายยากเนื่องจากขาดออกซิเจนที่บริเวณแผล คณะแพทยเวชศาสตร์ไฮเปอร์แบริกจึงได้นำส่วนดีของเครื่องไฮเปอร์แบริกมาใช้เสริมในการรักษาแผลเรื้อรัง แผลในผู้ป่วยเบาหวาน เป็นผลให้แผลหายอย่างรวดเร็วและลดอัตราการตัดขาได้

การรักษาด้วยวิธีไฮเปอร์แบริกคืออะไร

คือ การใช้ออกซิเจนในการรักษา ช่วยให้บาดแผลของคนที่เป็นเบาหวาน แผลเรื้อรังจากการฉายรังสี และแผลติดเชื้อต่างๆ หายเร็วขึ้น โดยการให้สูดออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ภายในห้องที่ควบคุมความดันที่เหมาะสม คือ 2-2.5 ความดันบรรยากาศ ประมาณ 20-22 ปอนด์ต่อ 1 ตารางนิ้ว

การรักษาวิธีนี้ช่วยให้แผลหายเร็วโดย

1. ทำให้ออกซิเจนละลายในเลือดเพิ่มขึ้น 20 เท่า
2. เนื่องจากความดันมีผลต่อการหดตัวของหลอดเลือด เป็นผลให้แผลยุบบวมอย่างรวดเร็ว
3. เพิ่มประสิทธิภาพให้เม็ดเลือดขาวกำจัดเชื้อโรคได้ดีขึ้น
4. กระตุ้นเซลล์เนื้อเยื่อให้สมานแผลได้อย่างรวดเร็ว
5. กระตุ้นให้มีการสร้างเส้นเลือดฝอยขึ้นใหม่ จึงมีเลือดไปเลี้ยงแผลมากขึ้น
6. ฆ่าเชื้อโรคที่ไม่พึ่งพาออกซิเจนโดยตรง

การรักษาด้วยไฮเปอร์แบริกใช้ในภาวะใดบ้าง

ภาวะเร่งด่วน

1. โรคน้ำหนีบ เป็นภาวะสมองขาดเลือดจากการอุดตันของก๊าซไนโตรเจนในนักดำน้ำ(Decompression Sickness)
2. ฟองอากาศอุดตันในกระแสเลือดจากการให้น้ำเกลือที่ผิดวิธี การผ่าตัดหัวใจ ทำผ่าตัดที่ปอด การฟอกเลือด (Air Embolism)
3. พิษจากก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (Carbon monoxide poisoning)
4. แผลติดเชื้อ Clostridia ที่กล้ามเนื้อ (Clostridia Myonecrosis)
5. แผลฉกรรจ์จากอุบัติเหตุรถยนต์ชนกัน ตึกถล่ม (Acute Traumatic ischemia)

ภาวะเรื้อรัง

1. แผลเรื้อรังจากการฉายแสง (Irradiated Tissue) เช่น กระดูกอ่อนตัวจากรังสี (Osteoradionecrosis)
2. กระดูกอักเสบอย่างรุนแรง (Refractory Osteomyelitis) ใช้เป็นการรักษาเสริม ร่วมกับยาปฏิชีวนะและการทำความสะอาดแผล
3. แผลเบาหวาน แผลเรื้อรังจากขาดเลือด
4. ภาวะที่อยู่ในการวิจัย เช่น โลหิตจาง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดสมองตีบตัน ภาวะจมน้ำ คนไข้แขวน-คอตาย ภาวะสมองพิการ

โปรดติดตามตัวอย่างการหายของแผลในฉบับหน้านะคะ

พญ.จุลี  จตุวรพัฒน์

อายุรกรรมสาขาต่อมไร้ท่อ และเมตตาบอริซึม

และเชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ไฮเปอร์แบริก

ปิดความเห็น บน บทความ HBOT 1 นิตยสาร “สกุลไทย”