ข่าวสารจากคุณหมอ

บทความ HBOT 4 นิตยสาร “สกุลไทย”

โดย แพทย์หญิงจุลี จตุวรพัฒน์ – 2016-12-20 15:34:30 – หมวดความรู้ทั่วไป

ต้นฉบับ       นิตยสาร สกุลไทย

คอลัมน์       “ให้ความรู้  คู่การรักษา

      ฉบับที่  2485

****************************************************************************************

ทางรอดใหม่ของเด็กสมองพิการ

เพราะขาดออกซิเจนขณะคลอดหรือหลังคลอด

(New Hope For Kids with Cerebral Palsy and Brain injury)

Cerebral Palsy คือ ภาวะสมองพิการในเด็กเนื่องจากการขาดออกซิเจน ซึ่งมีสาเหตุต่างๆ กัน และมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันไป บางรายมีอาการภายหลัง มีอาการปัญญาอ่อน บางรายเป็นมาก มีกล้ามเนื้อเกร็ง และกระตุกเป็นพักๆ การให้ออกซิเจนเป็นเวลานานในเด็กแรกเกิดอาจทำให้มีผลเสียต่อเซลล์ประสาทตา (retrolental fibroplasia) แต่การรักษาด้วยไฮเปอร์แบริกเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยลดภาวะกล้ามเนื้อเกร็ง กระตุก และไม่ทำให้เกิดการทำลายจอรับภาพและประสาทตา  (retrolental fibroplasia) เพราะเป็นการให้ในเวลาสั้นๆ และไม่ทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัวต่อการรักษา

ในกรณีที่สมองพิการตั้งแต่เกิด พบว่ามีบางส่วนของสมองมีออกซิเจนต่ำ จึงทำงานได้น้อยกว่าปกติซึ่งแสดงให้เห็นจากการตรวจด้วยวิธีพิเศษ (SPECT scan)  ดังนั้นการให้การรักษาด้วยวิธีไฮเปอร์แบริกซึ่งเป็นการทำให้ออกซิเจน 100% ภายใต้ความดันสูงๆ ทำให้ฮีโมโกลบินจับกับออกซิเจนได้ดีขึ้น จาก 97% เป็น 100%  แต่ออกซิเจนสามารถละลายในน้ำเลือดดีถึง 2000%

ในปี พ.ศ. 2540 ได้มีการศึกษานำร่องโดยใช้ไฮเปอร์แบริกที่มหาวิทยาลัย McGill  รัฐมอนทรีอัล ประเทศแคนาดา  พบว่ามีการพัฒนาสมองซีกขวาซึ่งควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ สามารถลดภาวะเกร็งกระตุกได้  ผู้ป่วยสามารถกลับมานั่งได้ เดินได้ แคนาดาจึงให้เงิน 2 ล้านเหรียญเพื่อศึกษาเพิ่มเติม  ได้มีการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส ในเมืองกัลเวสตัน ถึงภาวะบาดเจ็บทางสมอง (brain injury) กับการรักษาด้วยไฮเปอร์แบริก    ซึ่งเป็นการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการได้รับและไม่ได้รับไฮเปอร์แบริก double blind study ให้ผลในทางบวกเช่นเดียวกัน ในประเทศอังกฤษขณะนี้มีเด็ก 300 ราย กำลังได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้

ตัวอย่างผู้ป่วย

เด็กชายชาวอเมริกัน อายุ 7 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นสมองพิการ เนื่องจากหลังคลอด 8 ชั่วโมง ผู้ป่วยมีปัญหาการหายใจ และนอนรักษาในห้อง ICU เป็นเวลา 3 เดือน   ขณะที่มารับการบำบัดด้วยไฮเปอร์แบริก  นั่งรถเข็นมา   การตรวจความสามารถของสมองต่ำกว่าเด็กปกติ   เขาไม่สามารถยืนทรงตัวได้  แขนและขาซ้ายเกร็งกระตุก หลังจากได้การรักษาด้วยไฮเปอร์แบริก 86 ครั้ง  เขาสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การเกร็งกระตุกลดลง สามารถเดินได้โดยใช้ไม้พยุงช่วยเดิน (walker) และกลับบ้านได้

ส่วนเด็กชายอีกคนหนึ่ง อายุ 3 ปี สมองถูกทำลายเนื่องจากติดเชื้อและเกร็ดเลือดต่ำ ได้รับ การบำบัดด้วยไฮเปอร์แบริก 31 ครั้ง ขณะนี้เขาสามารถนั่งได้ ถือแก้วน้ำได้ด้วยมือเขาเองเป็นครั้งแรก และทำเสียงต่างๆ ได้ สนใจสิ่งแวดล้อม ใช้มือพยายามคว้าสิ่งของต่างๆ ได้

พญ.จุลี  จตุวรพัฒน์

ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม สาขาต่อมไร้ท่อฯ

ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ไฮเปอร์แบริก

ปิดความเห็น บน บทความ HBOT 4 นิตยสาร “สกุลไทย”