ข่าวสารจากคุณหมอ

บทความ HBOT 2 นิตยสาร “สกุลไทย”

โดย แพทย์หญิงจุลี จตุวรพัฒน์ – 2016-12-20 16:31:55 – หมวดความรู้ทั่วไป

ต้นฉบับ       นิตยสาร “สกุลไทย”

คอลัมน์       “ให้ความรู้  คู่การรักษา”

***************************************************************************

การรักษาแผลเบาหวาน

ด้วยไฮเปอร์แบริก

อย่างที่เรียนท่านผู้อ่านไปเมื่อฉบับที่แล้วว่า การรักษาด้วยไฮเปอร์แบริกคือการเติมออกซิเจนให้กับเนื้อเยื่อเพื่อเร่งการสมานแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้นจากกลไกต่างๆ ดังนี้

1. ทำให้ออกซิเจนละลายในเลือดเพิ่มขึ้น 20 เท่า
2. ทำให้แผลยุบบวมลงอย่างรวดเร็ว
3. เพิ่มประสิทธิภาพให้เม็ดเลือดขาวกำจัดเชื้อโรคได้ดีขึ้น
4. กระตุ้นเซลล์เนื้อเยื่อชนิดไฟโบรบลาส และคอลลาเจนให้สมานแผลได้อย่างรวดเร็ว
5. กระตุ้นให้มีการสร้างเส้นเลือดฝอยขึ้นใหม่ในบริเวณแผล
6. มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคโดยตรง

การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นการรักษาเสริมและควรทำควบคู่กับการทำความสะอาดแผลและการได้รับยาปฏิชีวนะ (ในรายที่จำเป็น) ร่วมกับได้รับสารอาหารที่เพียงพอและลดการกดทับบริเวณแผลด้วย

วันนี้จะเป็นตัวอย่างการหายของแผลเบาหวานค่ะ

ในผู้ป่วยเบาหวาน การควบคุมระดับน้ำตาลก็ยังจำเป็นอันดับหนึ่ง เพราะแผลที่พบในผู้ที่ควบคุมเบาหวานไม่ดี เหมือนแผลที่อุดมไปด้วยอาหารสำหรับเชื้อแบคทีเรีย และภาวะน้ำตาลที่สูงในกระแสเลือดมีผลต่อการทำงานของเม็ดเลือดขาว  เนื้อเยื่อสมานแผล (ไฟโบรบลาสและคอลลาเจน) และหลอดเลือดรอบๆ แผล  พบว่าระดับน้ำตาลที่ช่วยส่งเสริมการหายของแผล คือ ไม่ควรสูงเกิน 180 มก./ดล.

ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลควรดูแลเรื่องอาหารและรับประทานยาหรือฉีดยาเบาหวาน ควบคุมให้ระดับน้ำตาลก่อนอาหารไม่เกิน 140 มก./ดล. และ 2 ชั่วโมงหลังอาหารไม่เกิน 180 มก./ดล.

ในกรณีที่เป็นแผลและมีเส้นเลือดที่ขาเสื่อม หรืออุดตันเล็กน้อย การเพิ่มออกซิเจนให้แผลด้วยเครื่องไฮเปอร์แบริกจะช่วยให้แผลหายได้รวดเร็ว ไม่ต้องถูกตัดขาทิ้ง และไม่ต้องนอนโรงพยาบาลนาน เพราะสามารถรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้

ในกรณีที่มีเส้นเลือดที่ขาอุดตันทั้งเส้น ควรได้รับการตัดต่อเส้นเลือดก่อน  การได้รับการรักษาด้วยไฮเปอร์-แบริกจะช่วยเสริมการหายของแผลผ่าตัดและการหายของแผลเบาหวานควบคู่กันค่ะ

รายที่ 1

ผู้ป่วยหญิง อายุ 69 ปี รักษาเบาหวานด้วยยาฉีด เป็นแผลกดทับที่ง่ามนิ้วเท้าซ้ายและเกิดการอักเสบลุกลามถึงเนื้อเยื่อพังผืดและเส้นเอ็น หลังจากให้ยาปฏิชีวนะและล้างทำความสะอาดแผลไม่ดีขึ้น ทำการวัดปริมาณออกซิเจนที่แผลด้วยการให้หายใจออกซิเจนที่ระดับความดันปกติได้ 30 มม.ปรอท. เมื่อให้เข้าเครื่องไฮเปอร์แบริกที่ 2 ความดันบรรยากาศ พบว่าปริมาณออกซิเจนที่แผลเพิ่มเป็น 1162 มม.ปรอท.

ภาพที่ 1 สภาพแผลก่อนรักษาด้วยไฮเปอร์แบริก จะเห็นเนื้อตายดำๆ นิ้วชี้ก็เริ่มดำ
เนื้อเยื่อขาวซีด ผิวหนังรอบๆ บวมแดง

ภาพที่ 2  หลังรักษาด้วยไฮเปอร์แบริก 15 ครั้ง จะเห็นว่ามีเนื้อเยื่องอกมาปกคลุมแผลสีแดง

ภาพที่ 3  รักษาได้ 20 ครั้ง แผลนั้นมีเนื้องอกมาคลุมหมด

ภาพที่ 4  แผลหายสนิทหลังรักษาด้วยไฮเปอร์แบริก 30 ครั้ง

รายที่ 2
ภาพที่ 1  ผู้ป่วยหญิง อายุ 58 ปี รักษาเบาหวานด้วยยาฉีด มีแผลที่ด้านข้างเท้าซ้ายมา 6 เดือน หลังจากทำการตัดต่อเส้นเลือดและทำกราฟ แผลก็อยู่ลักษณะนี้ กราฟที่ต่อก็หลุดไป แพทย์ส่งมารับการรักษาด้วยไฮเปอร์แบริก ลักษณะแผลมีกลุ่มเนื้อสีแดงสลับขาวซีด ขอบแผลซีด

ภาพที่ 2  ลักษณะแผลหลังจากรับการรักษาด้วยไฮเปอร์เบริก 25 ครั้ง
จะเห็นเนื้อเยื่อสีแดงคลุมทั่วแผลและแผลตื้นขึ้น

ภาพที่ 3  เนื่องจากปากแผลกว้างมากจึงต้องหาผิวหน้ามาปิด (ทำกราฟ)
ครั้งนี้ กราฟที่ทำไว้ไม่หลุดลอกออกเหมือนก่อนรับการรักษาด้วยไฮเปอร์แบริก

รายที่ 3

ผู้ป่วยชาย อายุ 53 ปี เป็นเบาหวาน 26 ปี ได้รับการรักษาด้วยยาฉีด มาด้วยเรื่องแผลที่เท้าขวาลามมากขึ้น 2 สัปดาห์ ได้รับการตรวจเส้นเลือดด้วยการฉีดสี พบเส้นเลือดตีบตันหลายตำแหน่ง และได้รับการตัดต่อเส้นเลือดของเท้าขวาเมื่อ 5มกราคม 2545

ภาพที่ ลักษณะแผลที่พบครั้งแรก เป็นแผลดำ ลึกถึงกระดูก

ภาพที่ ลักษณะแผลหลังทำการตัดต่อเส้นเลือด 5 วัน ขอบแผลซีด
กระดูกส้นเท้าไม่มี เนื้อเยื่อคลุม และกระดูกเริ่มดำ

ภาพที่ ลักษณะแผลหลังได้รับการรักษาด้วย ออกซิเจน 10 ครั้ง
แผลแดงดีและมีเนื้อเยื่องอกคลุมกระดูก

ภาพที่ ลักษณะแผลหลังได้รับการรักษาด้วย ออกซิเจน 28 ครั้ง
แผลแดงดีมากมีเนื้อเยื่องอกเต็มแผล และคลุมกระดูกเกือบทั้งหมด

ภาพที่ ลักษณะแผลหลังหยุดการรักษา ได้รับออกซิเจนรวม 30 ครั้ง
และล้างแผลเองที่บ้านเป็นเวลา 1 เดือน แผลแดงดีและมีเนื้อเยื่องอกคลุมกระดูกทั้งหมด

ปิดความเห็น บน บทความ HBOT 2 นิตยสาร “สกุลไทย”