
เท้าเจ้าปัญหา
โดย แพทย์หญิงจุลี จตุวรพัฒน์ – 2016-12-20 17:26:18 – หมวดความรู้ทั่วไป
เบาหวาน เป็นภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาท ไต ตา นอกจากนี้ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานต่อสู้กับเชื้อโรคมีประสิทธิภาพลดลง เมื่อไม่สามารถควบคุมให้สู่ระดับระดับใกล้เคียงปกติได้เป็นระยะเวลานาน อวัยวะเหล่านั้นก็จะเริ่มเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับเท้าซึ่งประกอบด้วยเส้นเลือด เส้นประสาท ก็จะเสื่อมเช่นกัน ทำให้เกิดปัญหาจนต้องเสียขาไปในที่สุด
สาเหตุของเท้าในผู้เป็นเบาหวาน
- เมื่อระบบประสาทที่เท้าเสื่อมไป เท้าจะรับรู้ความรู้สึกลดลง ต่อมเหงื่อและต่อมไขมันไม่สามารถผลิตและหลั่งเหงื่อและไขมันเพื่อทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นได้ตามปกติ ทำให้ผิวหนังแห้ง แตกง่าย จึงเกิดเป็นแผลแตกขณะเดิน และผิวหนังเสียดสีกับรองเท้าหรือบริเวณที่ลงน้ำหนักก็จะแตกเกิดแผลได้
- เนื่องจากหลอดเลือดที่เสื่อม มีการอุดตันหรือมีหินปูนมาเกาะร่วมกับระบบภูมิคุ้มกันที่เสียไป เมื่อเกิดแผลจึงยากที่จะหาย จึงเกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังและชั้นของผิวหนังลึกไปเรื่อยๆจนถึงชั้นไขมัน กล้ามเนื้อ และกระดูกได้ การติดเชื้อเล็กๆน้อยๆสามารถนำไปสู่การติดเชื้อที่รุนแรงขึ้น ทำให้นิ้วเท้าดำลามทั้งเท้า หรือทั้งขา ต้องสูญเสียเท้าหรือขาไป ถ้ารุนแรงมากกว่านั้น เมื่อเชื้อเข้ากระแสเลือดควบคุมไม่ได้
- ผู้เป็นเบาหวาน จะต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการเฝ้าระวังเท้าอย่าให้เกิดแผล หรือเมื่อเกิดแผลแล้วควรรู้ว่าจะไปพบใคร เมื่อไร เพื่อให้รับการดูแลที่ถูกต้อง การป้องกันยังเป็นหัวใจสำคัญ การควบน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ใกล้เคียงปกติ ยังเป็นการป้องกันการเกิดแผลได้ดีที่สุด
- ผู้เป็นเบาหวานควรรู้ว่า จะตรวจเท้าตนเองได้อย่างไร และควรรู้ถึงอาการแสดงของปัญหาเท้าในเบาหวานด้วยว่ามีอะไรที่ต้องดูบ้าง
- และควรเรียนรู้ถึงการดูแลเท้าของตนเองเป็นประจำวัน และรู้ว่าควรจะโทรปรึกษาแพทย์
- ของตนเองเมื่อไร และปัญหาไหนที่ต้องพบแพทย์โดยด่วน
ข้อที่ระวังต่อไปนี้ที่อาจเป็นสาเหตุปัญหาเท้าในผู้เป็นเบาหวาน
1. รองเท้า : ที่ไม่พอเหมาะ พอดี
ถ้าใส่แล้วมีจุดแดง จุดเจ็บ ตุ่มน้ำ ตาปลา เกิดขึ้น ควรยกรองเท้าคู้นั้นให้คนอื่นทันที และมองหารองเท้าคู่ใหม่ที่ใส่แล้วนุ่มสบาย ไม่เกิด จุดแดง เจ็บ ตุ่มน้ำ ตาปลา อีก
ถ้าลักษณะเท้าของท่านเป็นดังต่อไปนี้
เท้าแบน (รูป Flat feet)
กระดูกเท้าปูดโปน(รูป Bunion)
นิ้วเท้าหงิกงอ(รูป Hammertoes)
คุณ….เจ้าของเท้าเจ้าปัญหาควรพบแพทย์เพื่อหารองเท้าที่เหมาะสมกับเท้านั้นๆ
2. มีเส้นประสาทเสื่อมแล้ว
ซึ่งพบในผู้เป็นเบาหวานมานานและควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี จะมีอาการชาหรือแสบร้อนปลายเท้า ทำให้สูญเสียการทรงตัว ทดสอบง่ายๆโดยการใช้มือถูเบาๆที่ส่วนปลายของเท้า ฝ่าเท้าว่ายังรู้สึกอยู่หรือไม่
ในผู้เป็นเบาหวานการรับรู้ความรู้สึกจะเสียไป คนปกติเมื่อมีเศษหินเล็กในรองเท้าเมื่อเดินจะรู้สึกได้ต้องรีบนำออก แต่ผู้เป็นเบาหวานจะไม่รู้สึกจึงเดินเหยียบอยู่ทุกวันทำให้เกิดแผลได้
3. การไหลเวียนของเลือดที่เท้าลดลง
ในผู้เป็นเบาหวานและควบคุมไม่ได้ตามเกณฑ์ จะเร่งหลอดเลือดให้เสื่อมเร็วการยืดหดตัวเสียไป จึงแข็งเหมือนท่อ PVC และตีบแคบเนื่องจากมีไขมันไปเกาะตามผนังหลอดเลือด ทำให้การบีบตัว ทำให้หลอดเลือดแดงไปเลี้ยงเท้าลดลง และนำหลอดเลือดดำกลับมาฟอกใหม่น้อยลง
จากสาเหตุ 1-3 เมื่อเท้าได้รับบาดเจ็บเล็กๆน้อยๆ จึงนำไปสู่ปัญหาลุกลามจนต้องเสียเท้าหรือขาหรือแม้แต่ชีวิตได้
4. การติดเชื้อ
ปัญหาการติดเชื้อที่เท้า ที่เป็นเชื้อราที่ง่ามนิ้ว เล็บ ก็สามารถลุกลามได้ถ้าไม่ดูแลให้ดี
เล็บขบ เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง เช่นกัน
5. สูบบุหรี่
บุหรี่ทำลายเส้นเลือดที่เท้าโดยตรง ทำให้เลือดไหลเวียนที่เท้าลดลง ทำให้แผลหายยาก ถ้ายังสูบบุหรี่อยู่
อาการและอาการแสดง
- เจ็บเท้า : เป็นอาการแสดงอาจเกิดจากการใช้เท้ามากไป ใส่รองเท้าไม่พอเหมาะ เส้นเอ็นอักเสบ หรือมีติดเชื้อซ่อนอยู่
- แดง : เป็นอาการแสดงจากการติดเชื้อก็ได้ หรือเกิดจากการเสียดสีกับรองเท้าที่แข็งไป ไม่พอเหมาะพอดีกับเท้าก็ได้
- บวม : เป็นอาการแสดงจากการติดเชื้อ หรือรองเท้าคับเกินไป หรือเส้นเลือดดำเสื่อม
- ร้อน : อาการแสดงจากการติดเชื้อ อักเสบ หรือแผลเรื้อรังที่ไม่หาย
- รอยแตกที่ผิวหนัง จาการเสียดสีกับรองเท้า
ตาปลา เกิดจากการลงน้ำหนักเท้าที่ผิดปกติ หรือเท้าผิดรูป
เล็บที่เป็นเชื้อรา มีเชื้อราที่ง่ามนิ้วเท้า เล็บขบ
อาการแสดงเหล่านี้สามารถนำไปสู่ปัญหาใหญ่ได้เสมอ
- มีหนองหรือเลือดจากแผล เป็นอาการติดเชื้อที่ต้องพบแพทย์ทันที
- ไข้ หนาวสั่น เป็นอาการตอบสนองของร่างกายต่อการติดเชื้อ ควรพบแพทย์ทันที
- เดินลำบาก อาจเป็นปัญหาจาก ข้อเสื่อม ติดเชื้อ เท้าผิดรูป รองเท้าไม่พอเหมาะ
- อาการเจ็บขา หรือก้น ที่เป็นมากขึ้นขณะเดิน และดีขึ้นเมื่อได้พัก
ไม่มีขนที่เท้าและขนที่ขา
ผิวหนังเป็นมัน บาง
เหล่านนั้นเป็นอาการแสดงของการขาดเลือดมาเลี้ยง ขา-เท้า
การดูแลตนเองที่บ้าน
1. ตรวจเท้าสม่ำเสมอทุกวัน และต้องดูทุกครั้งหลังเกิดอุบัติเหตุกับเท้า ไม่ว่าจะเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เช่น เปิดประตูแล้วชักเท้าหนีประตูไม่พ้นนิ้วชนประตู เดินสะดุด และควรรายงานอุบัติเหตุนั้นๆแก่แพทย์ประจำตัวท่าน
ใช้ครีมทาเท้าเพิ่มความชุ่มชื้นกับผิวหนังที่เท้า ป้องกันรอยแตก สวมถุงเท้าที่ทำด้วยฝ้าย ไม่รัดจนเกินไป ไม่ควรใช้ถุงเท้ามียางรัดแน่นจะทำให้เลือดไหลเวียนลดลง
2. เคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางบนทางเดินที่บ้าน หมั่นสำรวจดูเศษวัสดุที่พื้นที่จะทิ่มตำเท้าได้
เปิดไปทางเดินทุกครั้งที่ทางเดินเพื่อให้เห็นทางเดิน และเศษของที่พื้นได้ชัดเจน ทั้งกลางวันและกลางคืน
3. การตัดเล็บ ควรใช้กรรไกรตัดเล็บที่มีส่วนกันการตัดเนื้อเหมือนของเด็กอ่อน ไม่ควรใช้กรรไกรทั่วไป และตัดเล็บตรงได้เสมอขอบนิ้ว ถ้าสายตาไม่ดีหรือมือทำเองไม่ถนัด ควรฝึกให้คนที่บ้านในการดูแลเล็บให้อย่างปลอดภัย
4. รองเท้า
ควรเป็นรองเท้าที่สวมแล้วรู้สึกนุ่มสบายเท้า ไม่เสียดสีจนเกดตุ่มแดง เจ็บ ถ้าหาไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวท่าน เพื่อส่งต่อแพทย์ที่ดูแลเรื่องเท้าโดยเฉพาะ
5. การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายที่สม่ำเสมอจะช่วยส่งเสริมการไหลเวียนของโลหิตที่เท้าและยังลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกถึง 30% ถ้าทำสม่ำเสมอสัปดาห์ละ3 ครั้งๆละ 45 นาที ควรปรึกษาแพทย์ของท่านก่อนที่จะเริ่มโปรแกรมออกกำลังกาย เพราะอาจต้องปรับยารักษาเบาหวาน
6. การสูบบุหรี่ การหยุดสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดเมื่อท่านมีปัญหาเท้า การสูบบุหรี่จะเร่งให้เส้นเลือดเล็กๆที่เท้าตีบตันเร็วขึ้น เป็นความเสี่ยงอย่างมากต่อการเกิดแผล แผลหายยาก แผลติดเชื้อ และลงเอยด้วยตัดเท้าหรือขาในที่สุด
7. การควบคุมเบาหวาน ด้วยการควบคุมอาหาร รับประทานให้ตรงเวลา ควรเช็คน้ำตาลด้วยตนเองเป็นครั้งคราว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ติดตามการรักษากับแพทย์ประจำ ทั้งหมดจะส่งเสริมให้การควบคุมเบาหวานอยู่ในเกณฑ์ที่ดีได้ การควบคุมให้ระดับน้ำตาลใกล้เคียงปกติ เป็นปัจจัยสำคัญ โอกาสการเสื่อมของหลอดเลือดที่เท้า ที่ไต ที่ตา และที่หัวใจ
เมื่อไรจะโทรปรึกษาหรือไปพบแพทย์
ให้จดบันทึกอาการที่เกิดกับเท้าดังต่อไปนี้ เพื่อปรึกษากับแพทย์ประจำตัวของท่าน อาจโทรปรึกษาหรือควรไปพบแพทย์ไม่เกิน 72 ชั่วโมงจากเริ่มมีปัญหา
- 1.ได้รับอุบัติเหตุที่เท้า ไม่ว่าจะเล็กน้อยอย่างไรก็ตาม เพราะแผลส่วนใหญ่เริ่มจากได้รับอุบัติเหตุเล็ก และถูกละเลยจนกลายเป็นปัญหาลุกลามจนต้องเสียเท้าในที่สุด
- 2.มีอาการเจ็บเท้า ขา จะเจ็บเป็นครั้งคราวหรือเจ็บตลอดก็ควรโทรปรึกษา
- 3.มีตุ่มน้ำใสๆ แผลเกิดขึ้น ไม่ว่าแผลจะขนาดเล็กน้อยก็ไม่ควรละเลย
- 4.มีตำแหน่งบวม แดง ร้อน เกิดกับเท้าอาการดังกล่าวเป็นตัวบอกการติดเชื้อที่เท้า
- 5.เจ็บ แดง ร้อน รอบๆเล็บเท้า อาจมีเล็บขบ ไม่ควรพยายามตัดเอง เพราะมีหลายรายที่ถูกตัดเท้า เพราะเพียงเล็บขบเท่านั้น ควรจะรีบพบแพทย์ของท่าน
- 6.ชาที่เท้า เป็นอาการของเส้นประสาทเสื่อม และขาดเลือดไปเลี้ยง ทั้ง 2 ภาวะเป็นสาตุของการติดเชื้อที่กระดูก ตัดเท้ามามาก
- 7.การเดินลำบาก รู้สึกขัดๆ เป็นอาการของข้ออักเสบจากเบาหวาน (Charoote’s joint) การดูแลเรื่องของเท้าที่เหมาะสมจะเป็นการป้องกันการเกิดแผล การติดเชื้อได้
- 8.ตาปลา และหนังที่หนาตัวผิดตำแหน่งที่เท้า ไม่ควรตัดเองที่บ้าน ควรมาให้ผู้รู้และเชี่ยวชาญทำให้ที่โรงพยาบาลดีกว่า
- 9.ไข้ ภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 37.5๐ ควรมาพบแพทย์ทันที เพราะไข้ต่ำๆอาจเป็นการติดเชื้อที่ลุกลามในผู้เป็นเบาหวานได้ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดปกตินั่นเอง

