ความรู้ทั่วไป

ถามตอบเรื่องเบาหวาน กับหมอจุลี จตุวรพัฒน์

1.เบาหวานคืออะไร  สาเหตุจากอะไร
: เบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารไปใช้ได้  เนื่องจากขาดอินซูลิน ซึ่งเป็นตัวนำน้ำตาลเข้าในเซลล์เนื้อเยื่อต่าง ๆ  ไปเผาผลาญให้เกิดพลังงาน  จึงเกิดน้ำตาลส่วนเกินท่วมท้นในกระแสเลือด  ถ้าน้ำตาลในเลือดสูงเกิน  180 มก./ดล.  ก็จะท้นออกมาทางปัสสาวะ  ทำให้ปัสสาวะมีรสหวาน  มดจึงมาตอม  ชาวบ้านจึงเรียกว่า   เบาหวาน

2.อาการที่ชวนสงสัยว่าเป็นเบาหวาน
: อาการแสดง  มาได้หลากหลายรูปแบบ
แบบน้อย หิวน้ำบ่อย  ปัสสาวะบ่อย  น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ ตามองไม่ชัด
แบบปานกลาง คันในร่มผ้าเนื่องจากมีเชื้อราเกิดขึ้นบ่อยๆ  เป็นแผลแล้วหายยาก ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะบ่อย ๆ
แบบรุนแรง หมดสติ  เนื่องจากน้ำตาลสูงมาก ๆ ในเลือด


3.จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเบาหวานแล้ว  นอกจากอาการแสดงที่กล่าวมา
: ตรวจเลือดในตอนเช้าเมื่องดอาหาร พบว่า น้ำตาลในเลือดสูง มากกว่า 126 มก./ดล. 2 ครั้ง หรือ  
ตรวจเลือดไม่งดอาหาร น้ำตาลมากกว่า 200 มก./ดล. (ค่าน้ำตาล ปกติ คือ 80-100 มก./ดล.)


4.เป็นแล้วจะดูแลรักษาตัวเองอย่างไร
: การดูแลรักษาผู้เป็นเบาหวาน ควรทำร่วมกันทั้งทีมแพทย์-ผู้เป็นเบาหวานและผู้ดูแลผู้เป็นเบาหวาน คือ ญาติ ๆ หรือผู้ให้การบริบาลผู้เป็นเบาหวาน  ทีมแพทย์เป็นเพียงผู้ให้ความรู้  คำแนะนำที่ถูกต้องในการดูแลรักษา  และจัดยาให้ตรงกับสภาพร่างกายของผู้เป็นเบาหวานแต่ละคน     1-2 เดือนมาพบแพทย์ครั้งเดียวใช้เวลาไม่เกิน  30 นาที  แต่การดูแล 90%จะอยู่ที่ตัวผู้เป็นเบาหวานและญาติ  ซึ่งอยู่ด้วยกันทุกวัน  ว่าจะปฏิบัติตามคำแนะนำได้หรือไม่

ขั้นที่ 1   –   ดูแลเรื่องอาหาร เป็นหัวใจสำคัญที่สุด ถึงแม้ไม่เป็นเบาหวานก็ต้องดูแล  เลือกรับประทานอาหารที่ถูกสัดส่วน  และหลากหลายไม่รับประทานแต่ของชอบอย่างเดียวเป็นเวลานาน ๆ  ของที่ควรงด  5 อย่างสำหรับผู้เป็นเบาหวาน คือ  ทองหยิบ,  ทองหยอด,  ฝอยทอง,  น้ำหวาน,  น้ำอัดลม     นอกจากนั้นรับประทานได้ทุกอย่าง ในปริมาณที่จำกัด  ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าต้องการพลังงานในปริมาณเท่าใด  จึงจะสอดคล้องต่อการควรคุมเบาหวาน  ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษา,  โภชนากรหรือนักกำหนดอาหาร  ในการกำหนดอาหารของแต่คนที่เป็นเบาหวาน

ขั้นที่ 2  –   ดูแลเรื่องการออกกำลังกาย  ควรทำให้ต่อเนื่องและตลอดไป  ถึงแม้นว่ายังไม่เป็นเบาหวาน  การออกกำลังกายก็ป้องกันเบาหวานได้  การออกกำลังกายเพื่อลดน้ำตาล  ถ้ามีอายุมากก็ให้เดินเร็ว ๆ ให้ชีพจรเต้นเร็วกว่า 120 ครั้ง/นาที นาน 30-45 นาที /วัน สัปดาห์ละ 3 ครั้ง เป็นอย่างน้อย  วิธีนี้ร่วมกับการควบคุมอาหารจะช่วยลดน้ำตาลได้  20-30 %  ถ้าน้ำตาลในเลือดไม่สูงมากเพียงควบคุมอาหารและออกกำลังกายสามารถทำให้เราไม่ต้องรับประทานยาไปได้อีกหลาย ๆ ปี  การออกกำลังกายและควบคุมอาหารไม่ให้อ้วนก็สามารถป้องกันการเป็นเบาหวานได้เช่นกัน  ถึงแม้จะมีคนใกล้ชิด คือ คุณพ่อ คุณแม่ เป็นทั้ง 2 ท่านก็ตาม   
อย่าให้อ้วน!!!  จะป้องกันเบาหวานได้

ขั้นที่ 3  –   ถ้าทั้ง 2 ขั้นตอนได้ผลก็ต้องรับประทานยาเพื่อควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ การรับประทานยาเพียงอย่างเดียว จะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ได้ตลอดวัน  ต้องควบคุมอาหารและออกกำลังกายร่วมด้วย  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและป้องกันโรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน


5.โรคแทรกซ้อนจากเบาหวานมีอะไรบ้าง
โรคแทรกซ้อนจากเบาหวานมีได้ทุกระบบ  เกิดเนื่องจากมีภาวะน้ำตาลสูงในเลือดทำให้เกิดการเปลี่ยนที่หลอดเลือดในทุกระบบของร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า  ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสมรรถภาพ  และมีการเปลี่ยนแปลง  ขาดความยืดหยุ่น  หลอดเลือดใหญ่อาจตีบตันได้  หลอดเลือดเล็ก ๆ  เปราะแตกง่ายได้   ขึ้นอยู่กับว่าไปแสดงออกที่อวัยวะส่วนใด  เช่น

สมอง  :  ทำให้หลอดเลือดตีบตัน  เป็นอัมพฤก  อัมพาตได้

ตา :  จอรับภาพผิดปกติ  หรือเรียกกันว่า  เบาหวานเข้าตา เป็นมาก  ๆ     หลอดเลือดที่จอตาแตกง่าย  ทำให้น้ำวุ้นในตาขุ่น  สูญเสียการมองเห็นทำให้ตาบอดได้

หัวใจ :  ทำให้เป็นหลอดเลือดหัวใจตีบ  ขาดเลือดมาเลี้ยงหัวใจ,  หัวใจวาย

ไต  :  การกรองของไตเสื่อม   มีของเสียคั่งมากขึ้นเรื่อย ๆ  ขั้นสุดท้าย  ก็ต้องล้างไต,  ฟอกเลือดไปตลอดชีวิต

ระบบประสาท:ปลายเส้นประสาทเสื่อมร่วมกับหลอดเลือดตีบ  เท้าชาเป็นแผลก็ไม่รู้  รู้ก็เมื่อลามมาก เป็นมาก  ติดเชื้อรักษาหายยาก  ต้องตัดไปกันมากต่อมาก

นอกจากนี้ยังมีภาวะไขมันสูง,  ความดันโลหิตสูง  ตามมา  โรคแทรกซ้อนของเบาหวานไม่ได้เกิดขี้นทันที  เมื่อเป็นเบาหวานในระยะเริ่มแรก  ใช้เวลาเป็นหลายปี  ในรายที่ควบคุมเบาหวานไม่อยู่ในเกณฑ์  5-10 ปี ก็จะพบโรคแทรกซ้อนไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง  และจะลามมาหลาย ๆ ระบบมากขึ้นเรื่อย ๆ  ถ้ายังควบคุมเบาหวานไม่ได้ตามเกณฑ์ที่ดี

6. เมื่อเป็นเบาหวานแล้วเกณฑ์ที่ดีในการรักษาคือเท่าไร
เกณฑ์ดีมาก    คือ    
น้ำตาลตอนเช้าก่อนอาหารไม่เกิน  110 มก./ดล.
น้ำตาลที่ 2 ชม.  หลังอาหาร  170 มก./ดล.
น้ำตาลเฉลี่ย  (ฮีโมโกลบิน  เอ วัน ซี)  ไม่เกิน 7%


เกณฑ์พอรับได้     คือ    
น้ำตาลตอนเช้าก่อนอาหารไม่เกิน 140 มก./ดล.
น้ำตาลที่ 2  ชม.  หลังอาหาร  น้อยกว่า  200 มก./ดล.
น้ำตาลเฉลี่ย  (ฮีโมโกลบิน  เอ วัน ซี)  7-8 %


เกณฑ์ที่ต้องปรับปรุง   คือ    
น้ำตาลตอนเช้าก่อนอาหาร มากกว่า  180 มก./ดล.
น้ำตาลที่  2 ชม.  หลังอาหารมากกว่า  200 มก./ดล.
น้ำตาลเฉลี่ย  (ฮีโมโกลบิน  เอ วัน ซี)  มากกว่า  8 %


7. ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยยามีอะไรบ้าง
อาการน้ำตาลต่ำ  ถ้าได้ยามากเกินไป  หรือได้พอเหมาะ  แต่ไม่ทานอาหารให้ตรงเวลาก็เกิดขึ้นได้  เพราะยาออกฤทธิ์คงที่ตรงเวลา  แต่ผู้เป็นเบาหวานรับประทานตามความเรียกร้องไม่หิวไม่รับประทาน

8. เบาหวานในเด็กเล็ก ๆ  เป็นได้อย่างไร
เด็ก ๆ ก็สามารถเป็นเบาหวานได้  โดยที่คุณพ่อ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องเป็นเบาหวาน  เกิดเนื่องจากตับอ่อนไม่สร้างอินซูลินเพราะติดเชื้อไวรัส  หรือมีภูมิทำลายตับอ่อน  ในกรณีที่คุณพ่อ คุณแม่เป็นเบาหวาน  ลูกมักจะเป็นเบาหวานเมื่อโตขึ้นพ้นวัยเด็กแล้ว

9.ถ้าคุณแม่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ลูกที่คลอดออกมาจะเป็นเบาหวานหรือไม่
เบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์  ถ้าควบคุมไม่ดีทำให้เด็กตัวโตขึ้นมี ความยากลำบากในการคลอด  แต่ไม่ทำให้เด็กคนนั้นเป็นเบาหวานทันทีหลังคลอด  แต่สามารถเป็นเบาหวานได้เมื่อโตขึ้น

ปิดความเห็น บน ถามตอบเรื่องเบาหวาน กับหมอจุลี จตุวรพัฒน์